11 กุมภาพันธ์ 2554

Jean-Edouard Vuillard

Jean-Edouard Vuillard
งานของแม่คือแรงบันดาลใจ




Jean-Edouard Vuillard เป็นศิลปินชาวฝรั่งเศสอีกคนหนึ่งที่แม้จะมีผลงานไม่มากนักแต่ก็เป็นศิลปินที่ชาวยุโรปชื่นชมเพราะเขาเป็นศิลปินผู้บุกเบิกการวาดภาพในแบบที่เรียกว่า post impressionism อันเป็นคำที่ใช้เรียกการวาดภาพของจิตรกรชาวฝรั่งเศสหัวก้าวหน้าในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1886-1914 จิตรกรผู้วาดภาพประเภท post impressionism เน้นเลือกใช้สีแรง ไม่เป็นธรรมชาติ วาดจากของจริงแต่รูปทรงมักไม่ถูกต้องตามธรรมชาติ จิตรกรบางคนใช้สีหนา บางคนใช้วิธีแต้มสีเป็นจุดจนเกิดเป็นภาพ บางคนใช้แปรงหนาเพื่อให้เห็นความหยาบของภาพวาด



Vuillard เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1868 ที่เมือง Cuiseaux ประเทศฝรั่งเศส มี่พี่น้องสามคน บิดาเป็นกัปตันเรือ ในปี ค.ศ. 1878 เมื่ออายุได้ 10 ขวบ ครอบครัวย้ายมาอยู่ที่กรุงปารีส เมื่อบิดาถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1884 เขาได้รับทุนให้ศึกษาที่ Lycee Condorcet ทำให้ได้พบกับเพื่อนหลายคนที่ต่อมากลายเป็นศิลปินชื่อดัง

ในปี ค.ศ.1885 เพื่อนคนหนึ่งชื่อ Roussel ได้ชวนให้ไปเรียนวาดรูปกับศิลปินชื่อ Diogene Maillart เขาได้รับการฝึกอย่างหนักจนสามารถสอบเข้าโรงเรียนศิลปะที่ดีที่สุดของประเทศคือ Ecole des Beaux Arts ได้ เมื่อ Vuillard พบกับ Pierre Bonnard ศิลปินชื่อดังของโลกอีกคนหนึ่ง ทั้งคู่ถูกคอกันได้อย่างรวดเร็วและต่อมาก็ไปเช่าห้องอยู่ด้วยกัน ทั้งคู่เรียนรู้ที่จะวาดภาพแนวใหม่ ชอบวาดภาพภูมิประเทศ ภาพสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆตัว ใช้สีแรงที่ผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติเพื่อที่จะแสดงอารมณ์และความรู้สึกของตน



ต่อมา ศิลปินหนุ่มทั้งคู่ก็ได้ร่วมกับศิลปินอีกหลายคน เช่น Paul Serusier, Maurice Denis รวมทั้ง Aristide Maillol ช่างปั้นชื่อดังตั้งกลุ่มชื่อ Nabis อันเป็นกลุ่มศิลปินที่สนใจในการวาดภาพแบบ post impressionism ที่พยายามสร้างแนวทางในการวาดภาพให้เป็นแบบฉบับของตนเอง ศิลปินกลุ่มนี้ได้จัดแสดงผลงานของพวกเขาที่ Le Barc de Boutteville ซึ่งก็ทำให้กลุ่ม Nabis เป็นที่รู้จักมากขึ้น



แต่ไม่กี่ปีต่อมา Vuillard ก็ได้ตัดสินใจแยกออกจากกลุ่ม Nabis แล้วเริ่มวาดภาพในแนวทางของตัวเอง ในช่วงเวลานี้ เขามีโอกาสเดินทางไปหาประสบการณ์ในต่างประเทศหลายครั้ง เช่นในปี ค.ศ.1898 เขาเดินทางไป Venice และ Florence ในปี ค.ศ.1899 ไป London และ Spain เมื่อกลับมายังกรุงปารีส Vuillard ก็ได้มีโอกาสแสดงผลงานของตัวเองที่ Salon des Independants ในปี ค.ศ.1901 และที่ Salon d′Automne ในปี ค.ศ.1903



มารดาของ Vuillard เป็นช่างตัดเสื้อ ทำงานที่บ้าน เมื่อแยกออกจากกลุ่ม Nabis ได้ไม่นาน Villard ก็ได้ย้ายกลับไปอยู่กับมารดาที่ห้องชุดของมารดาในกรุงปารีส ทั้งวันเขานั่งอยู่กับบ้านอย่างสงบ มองมารดาทำงานด้วยความชื่นชมและศรัทธา ให้ความสนใจกับลูกค้าของมารดา การลองเสื้อ การแต่งตัว ในยามที่ไม่มีลูกค้ามาที่บ้าน เขาก็มุ่งความสนใจไปที่ลวดลายของผ้าตัดเสื้อ กระดาษปิดฝาผนังและพรมที่มีอยู่เต็มบ้าน



Vuillard วาดทุกอย่างที่อยู่ในห้อง ภาพที่เขาวาดส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก ห้องที่ปรากฏอยู่ในภาพวาดของเขาคือห้องที่เขาอยู่กับมารดานั่นเอง




เวลาว่างบางครั้ง Vuillard ก็ออกไปวาดภาพนอกบ้านบ้างแต่ก็ไม่มากนัก เขาใช้เวลาเกือบสามสิบปีอยู่กับมารดา นั่งมองเธอทำงาน แล้วก็ถ่ายทอดสิ่งที่เขามองเห็นออกมาเป็นภาพวาดที่ในบางครั้งก็ตรงกันข้ามกับความเป็นจริง เขาอยู่กับมารดาจนอายุได้ 60 ปี เมื่อมารดาเสียชีวิตลงในปี ค.ศ.1928 Vuillard ตัดสินใจแต่งงานและย้ายไปอยู่ที่ La Baule เมืองตากอากาศชายทะเลที่มีชื่อเสียง




Vuillard เป็นคนเงียบๆ มีความเป็นผู้ดีสูงมาก สุภาพเรียบร้อยและสงบเสงี่ยม ขี้อายและรักมารดา คุณสมบัติเหล่านี้เป็นสิ่งที่เขาได้รับมาจากมารดาซึ่งเป็นคนใจเย็น สุภาพอ่อนน้อม ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่ในภาพวาดของมารดาบางภาพ Villard เลือกที่จะใช้สีมืด เห็นใบหน้าไม่ชัด นี่คือส่วนหนึ่งของจินตนาการของศิลปินที่ต้องการทำให้คนคิดไปต่างๆนานาถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขากับมารดาว่าเป็นอย่างไร




นอกจากวาดภาพเหมือนตัวเองไว้หลายรูป ภาพที่เกี่ยวกับการทำงานของมารดาและภาพสวนที่เขาชอบแล้ว Vuillard ยังวาดฉากละครอีกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเขียนภาพบนฝาผนังแบบปูนเปียก (fresco) ในบ้านของเอกชนอีกหลายหลัง และในโรงละคร Champs-Elysees และที่ Palais de Chaillot ด้วย 


แม้งานของ Vuillard จะมีไม่มากและประวัติชีวิตของเขาก็ไม่มีอะไรที่น่าตื่นเต้น แต่ผลงานของเขาก็เป็นที่ชื่นชมและหลงใหลของคนจำนวนมาก ในวันนี้ ผลงานของ Vuillard กระจัดกระจายไปอยู่ทั่วโลก ทั้งในฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา บราซิลและรัสเซีย 

Jean-Edouard Vuillard ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ.1940 



เป็ยยังไงกันบ้างค่ะ สำหรับคนที่เพิ่งทำความรู้จักกับ Jean-Edouard Vuillard หวังว่าคงได้รับแรงบันดาลใจไม่มากก็น้อย 

ขอขอบคุณที่มารับแรงบันดาลใจค่ะ 





Thank by PORTFOLIOS*NET on February 11, 2011 at 12:06pm in Articles

ไม่มีความคิดเห็น: